วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Project : 6 ทับหลังกึ่งสำเร็จรูป (First Test)

                  เรื่องนี้ได้ไอเดียมาจากการเห็นเขาทำอาคารกึ่งสำเร็จรูป ที่ทำคานจากโรงงงานแล้วยกมาติดตั้งที่หน้างาน เลยลองมาทำกับทับหลังดูบ้าง แต่เป็นทับหลังตัวบนที่เป็นช่องหน้าต่าง-ประตูอลูมิเนียมหรือช่องโล่งเท่านั้น ลองดูรายละอียดครับ                                                                          
                
                  เตรียมเหล็กทับหลัง ผมใช้เชื่อมเอาดูแข็งแรงดีครับ

  

                    
                เข้าแบบ เทคอนกรีต (อย่าลืมโผล่ปลายเหล็ก 2 ด้านไว้ด้วย) ทำแบบง่ายๆกรรมกรก็ทำได้ครับ ไม่ต้องใช้ช่าง




                 ยกมาติดตั้งตามระดับที่ต้องการ เชื่อมติดกับเสาเอ็นที่โผล่ไว้ ขั้นตอนนี้ต้องเน้นระดับและแนวให้ดีครับ

                   เข้าแบบ เทคอนกรีตรอยต่อ 


                 เสร็จแล้วครับ


                
                 ถ้าเตรียมเททับหลังไว้ล่วงหน้าจะทำให้งานทับหลังตัวบนไวมากครับ สำหรับผมถือว่าสะดวกดีครับ ลองเอาไปทำดูครับ


                                                             ขอบคุณครับ

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Project : 5 งานก่ออิฐมอญต่อ ตร.ม. (ภาคสนาม)


            หลังจากเงียบหาย 1 ปีเต็ม มาคราวนี้จะพูดถึงงานก่่ออิฐมอญ ว่าจากสภาพหน้างานจริงปัจจุบัน 1.00 ตร.ม. ใช้อิฐมอญกี่ก้อน ซึ่งก่อโดยใช้ปูนก่อสำเร็จรูปก่อและพร้อมกันนี้จะได้เช็คว่าปูนก่อสำเร็จรูป 1 ถุง/50 กก. สามารถก่ออิฐมอญได้กี่ ตร.ม. ด้วยครับ 




              มาดูที่ปริมาณอิฐมอญก่อนครับ ตามรูปในแนวดิ่งที่ความสูง 1.00 ม.นับอิฐมอญได้ 20 ก้อน/แถว และตามรูปในแนวนอนที่ความยาว 1.00 ม.นับอิฐมอญได้ 6.5 ก้อน ครับ แนวปูนก่อประมาณ 2 ซม. ครับ


              ดังนั้นก็สรุปได้ว่าก่ออิฐมอญ 1.00 ตร.ม. ใช้อิฐมอญ (20x6.5 ก้อน) = 130 ก้อน
(แต่ถ้าแนวนอนคิดที่ 7 ก้อน) ก่ออิฐมอญ 1.00 ตร.ม. ก็จะใช้อิฐมอญ (20x7 ก้อน) = 140 ก้อน ครับ


            
            ทีนี้มาดูปูนก่อสำเร็จรูป 1 ถุง/50 กก. จะก่ออิฐมอญได้กี่ ตร.ม. ครับ พื้นที่ที่ใช้ตรวจสอบกว้าง 3.50 ม. สูง 1.70 ม. = 5.95 ตร.ม. (คิดเป็น 6.00 ตร.ม.แล้วกัน) หลังจากที่ก่ออิฐเสร็จปรากฎว่าใช้ปูนก่อสำเร็จรูปไป 6 ถุง ครับ

        สรุปง่ายๆก็คือ ปูนก่อสำเร็จรูป 1 ถุง ก่ออิฐมอญได้ (6.00 ตร.ม.หารด้วย 6 ถุง) 1.00 ตร.ม.ครับ

                                 ขอจบบทความนี้เพียงเท่านี้ หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะครับ

                                                         ขอบคุณครับ 

                             
           

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

Project : 4 ปูนฉาบสำเร็จรูปต่อ ตร.ม. (ภาคสนาม)

          คราวนี้จะพูดถึงปูนฉาบสำเร็จรูป 50 กก. (1 ถุง) จะฉาบได้กี่ ตร.ม. หลังจากที่ได้พูดถึงปูนก่อสำเร็จรูปไปแล้ว



          พื้นที่ที่ใช้ตรวจสอบปริมาณปูนฉาบสำเร็จรูปมีขนาด 6.50x2.00=13.00 ตร.ม. ความหนาของปูนฉาบเฉลี่ย 1.7 ซม.




            หลังจากฉาบปูนเสร็จปรากฎว่าใช้ปูนฉาบสำเร็จรูปทั้งหมด 8 ถุง ดังนั้นพอสรุปได้ว่าปูนฉาบสำเร็จรูป 1 ถุง ฉาบได้พื้นที่  13ตร.ม./8ถุง เท่ากับ 1.60 ตร.ม. แต่ในกรณีที่จะเอาไปเช็คปริมาณปูนฉาบหน้างานเพื่อมาใช้งานควรใช้ 1 ถุง เท่ากับ 1.50 ตร.ม. จะเหมาะสมกว่าครับ

                                 ลองเอาไปใช้ดูครับว่าจะใกล้เคียงหรือไม่ครับ

                                                       ขอบคุณครับ

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Project : 3 ปูนก่อสำเร็จรูปกับการก่ออิฐบล็อค (ภาคสนาม)

        ปัจจุบันนี้ปูนสำเร็จรูปมีจำหน่ายมากมาย ทั้งปูนฉาบสำเร็จรูป,ปูนก่อสำเร็จรูป,ปูนทรายปรับระดับสำเร็จรูปและอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งค่อนข้างสะดวกในการใช้งานครับ
      
      ในที่นี้จะพูดถึงปูนก่อสำเร็จรูป (น้ำหนัก 50 กิโลกรัม/ถุง) ว่า 1 ถุง จะก่ออิฐบล็อคได้กี่ ตร.ม. ครับ
     
           โดยการตรวจสอบปริมาณในครั้งนี้ถือว่าเป็นภาคสนามครับ  เนื่องจากเป็นการตรวจสอบจากหน้างานจริงเป็นงานก่ออิฐบล็อครั้วครับ ไม่มีการจัดฉากใดๆทั้งสิ้นตามถนัดของช่างเลยครับ


          จากการตรวจสอบปรากฏว่าปูนก่อสำเร็จ รูป 1 ถุง ก่ออิฐบล็อคได้ 28 ก้อน ฉะนั้นพอจะสรุปได้ว่าปูนก่อสำเร็จ 1 ถุง ก่ออิฐบล็อคได้ 2.00-2.20 ตร.ม. ครับ
           
                                                        หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะครับ

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Project : 2 ปีกนก คสล. กับกระเบื้อง C-PAC MONIER

         พอดีได้มีโอกาสไปแก้ไขหลังคาบริเวณใต้ปีกนก คสล. ซึ่งนกสามารถเข้าไปทำรังได้ เท่าที่ดูเนื่องจากระยะระหว่างปีกนก คสล.กับหลังของกระเบื้องหลังคาห่างกันมากและหัวกระเบื้องด้านในห่างจากผนังมากทำให้นกเข้าไปทำรังใต้หลังคาอย่างสบาย (แต่เจ้าของบ้านรำคาญ)

ซึ่งผมได้แก้ไขโดยใช้กระเบื้องชนิดเดียวกันตัดตัวกระเบื้องทิ้งแล้วยัดกระเบื้องเข้าไปด้านในโดยให้ชิดผนังด้านใน

    
เนื่องจากที่นี่เจ้าของบ้านไม่สามารถหากระเบื้องหลังคาที่สีเหมือนกันได้ ก็เลยใช้กระเบื้องสีขาวแทนครับ

       
      ผู้อ่านคงแปลกใจว่าตัดหัวกระเบื้องทิ้งแล้วกระเบื้องจะยึดอยู่กับอะไร ในที่นี้ผมใช้กาวโพลียูริเทนยิงใส่ใต้กระเบื้องแล้วกดให้ติดกับกระเบื้องเดิมครับ



    เหตุผลที่เลือกใช้กาวโพลียูริเทนแทนจำพวกซิลิโคน เนื่องจากกาวโพลียูริเทนมีความสามารถยึดเกาะค่อนข้างมากกว่าซิลิโคนและมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูงครับ (ตามประสบการณ์ที่เคยใช้มาครับ) ไม่ต้องกลัวหล่น

         เมื่อแก้ปัญหาเสร็จ ผมพยายามดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ดูไปดูมาผมคิดว่าน่าจะเกิดจากขนาดความกว้างของปีกนกที่ดูแล้วแคบเกินไปและความสูงของท้องปีกนกที่น่าจะสูงเกินไป


   ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความกว้างของปีกนก คสล. น่าจะอยู่ที่ 0.29-0.31 ม. (29-31 ซม.) และความสูง ของท้องปีกนกจากหลังแปน่าจะอยูที่ 0.07-0.08 ม. (7-8 ซม.) 


            บทความนี้เขียนจากประสบการณ์ของผมเอง ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยครับ

                                                                                   ผมขอจบบทความไว้เพียงเท่านี้

                                                                                                 ขอบคุณครับ

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Project : 1 ปริมาณทรายหยาบ,หิน ต่อปูนซีเมนต์ 1 ถุง (ภาคปฏิบัติ)

           บทความแรกที่ผมที่จะเขียนนี้เป็นเรื่องที่ผมเองก็อยากรู้อยู่เหมือนกัน และขอออกตัวก่อนเลยว่าไม่เกี่ยวกับ Mixed Design ใดๆทั้งสิ้น  เจตนาเพียงเพื่อให้รู้ว่จะเทคอนกรีต โดยใช้ปูนซีเมนต์ 1 ถุง  ต้องใช้ทรายหยาบและหินกี่บุ้งกี๋ เพื่อให้ใกล้เคียงกับหลักทฤษฎีมากที่สุด ซึ่งโดยทฤษฎีระบุไว่ว่า
  
          คอนกรีต 1 ลบ.ม. (1:2:4) ใช้
              ปูนซีเมนต์ 320 กก. (ผมคิดเป็น 6.5 ถุง)
              ทรายหยาบ 0.50 ลบ.ม.
              หิน  1.00 ลบ.ม.

          ถ้าใช้ปูนซีเมนต์ 1 ถุง ก็ต้องใช้ทรายหยาบ 0.077 ลบ.ม.  หิน 0.154 ลบ.ม. (โดยเอา 6.5 ถุงไปหาร) สำหรับคนที่อยู่หน้างาน ปริมาณแบบนี้ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาตวงหรอกครับ มีแต่ถังปูนกับบุ้งกี๋ สำหรับผมเองที่ผ่านก็ใช้ประสบการณ์ของช่าง+ของผม แต่ละสูตรไม่ซ้ำกันเลยครับแล้วแต่สถานการณ์ครับ
         แต่อย่างที่เกริ่นไว้ครับผมอยากรู้ว่าจริงๆแล้วมันเท่าไหร่ที่ใกล้เคียงกับทฤษฎีมากที่สุด ก็เลยลองหาข้อมูลดูไปเจอที่ Webboard โยธาไทย ก็เลยลองมาทำดูครับ เขาบอกไว้ว่า

   ปูนซีเมนต์ 1 ถุง เท่ากับ  50 กก.
   ทรายหยาบ 0.077 ลบ.ม. แปลงหน่วยให้เป็น กก. โดยการคูณด้วย 1,450 เท่ากับ 112 กก.
   หิน 0.154 ลบ.ม. แปลงเป็นหน่วยให้เป็น กก. โดยการคูณด้วย 1,450 เท่ากับ 224 กก.
            (1,450 กก. เป็นน้ำหนักของทรายหยาบและหินต่อ 1 ลบ.ม.)

        เมื่อได้น้ำหนักทรายหยาบและหินที่ต้องการแล้ว คราวนี้ต้องภาคปฏิบัติแล้วครับ

      โดยการเอาทรายหยาบต่อ 1 บุ้งกี๋ มาชั่งน้ำหนัก ในที่นี้ผมเอามาใส่ถังสีเพื่อสะดวกในการชั่งน้ำหนักชั่งได้ 15.9 กก. หักน้ำหนักถังสี 0.8 กก. ได้น้ำ้หนักทรายต่อ 1 บุ้งกี๋ เท่ากับ 15.1 กก. ครับ



      ต่อไปชั่งหินครับ ชั่งได้ 19.0 กก. หักน้ำหนักถังสี 0.8 กก. ได้น้ำหนักหินต่อ 1 บุ้งกี๋เท่ากับ 18.2 กกครับ หินที่ใช้ชั่งน้ำหนักเป็นหินหนึ่ง ที่เรียกกันตามห้องตลาดครับ



         เมื่อได้น้ำหนักทรายหยาบและหินต่อบุ้งกี๋แล้ว ก็เอาไปหารน้ำหนักทรายหยาบและหินต่อปูนซีเมนต์ 1 ถุง ก็ได้ตามนี้ครับ

             ทรายหยาบ 0.077 ลบ.ม. เท่ากับ 112/15.1 เท่ากับ 7.5 บุ้งกี่๋
             หินหนึ่ง  0.154  ลบ.ม. เท่ากับ 224/18.2 เท่ากับ 12.5 บุ้งกี๋

       ฉะนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า ปูนซีเมนต์ 1 ถุง ใช้ทรายหยาบ 7-8 บุ้งกี๋ หินหนึ่ง 12-13 บุ้งกี๋ ส่วนน้ำตามถนัดครับ
   
        เพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งครับสำหรับคนที่ซื้อทรายหยาบและหินเป็นถุงปุุ๋ยครับ ผมเลยชั่งน้ำหนักทรายหยาบกับหินแบบถุงปุ๋ยมาให้ด้วยครับ

            เมื่อชั่งน้ำหนักทรายหยาบและหินแล้วปรากฏว่าน้ำหนักเท่ากันครับ คือ 31.4 กก.ครับ


        
                 คิดเหมือนเดิมครับ

             ทรายหยาบ 0.077 ลบ.ม. เท่ากับ 112/31.4 เท่ากับ 3.5 ถุงปุ๋ย
             หินหนึ่ง  0.154  ลบ.ม. เท่ากับ 224/31.4 เท่ากับ 7 ถุงปุ๋ย

            ฉะนั้น ปูนซีเมนต์ 1 ถุง ใช้ทรายหยาบ 3-4 ถุงปุ๋ย หินหนึ่ง 7-8 ถุงปุ๋ย
    ความถูกต้องกี่เปอร์เซ็นอันนี้ไม่ขอยืนยันครับ

        ป.ล. และพอจะคร่าวๆได้ว่า 1 บุ้งกี๋ เท่ากับ 0.01 ลบ.ม. และ 1 ถุงปุ๋ย เท่ากับ 0.02 ลบ.ม. 
    หรือ 2 บุ้งกี๋
                              
                         ผมขอจบบทความไว้เพียงเท่านี้ครับ

                                  หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้หลงทางเข้ามาเจอครับ